การใช้ไฟของแต่ละบ้านจะไม่เหมือนกัน บ้างก็ใช้ในการทำงาน บ้างก็ใช้ในการเปิดแอร์ บ้างก็ใช้ในการทำครัวอย่างเช่น การใช้ เตาอบ และ เตาไฟฟ้า ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสิ่งต่างๆ ให้เราได้อยู่สบายมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนไปดู สูตรคำนวณค่าไฟ กัน
อะไรอยู่ในบิลค่าไฟบ้าง?
ก่อนจะคำนวณค่าไฟ ควรจะต้องมารู้ก่อนว่า ข้อมูลแต่ละอย่างนั้นมีความหมายอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้คำนวณได้อย่างถูกต้อง
1. ข้อมูลทั่วไป
ข้อมูลทั่วไปจะเป็นข้อมูลของชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า ที่อยู่ วันและเวลาในการอ่านหน่วย เป็นค่าไฟประจำเดือนที่เท่าไหร่ ฯลฯ
2. ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า
ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย เลขอ่านครั้งก่อน – หลัง จำนวนหน่วยที่ใช้และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง
3. ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ
ค่าพลังงานไฟฟ้า
ค่าพลังงานไฟฟ้าคือต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า ก่อสร้างไฟฟ้า ระบบขนส่งไฟฟ้า ฯลฯ
ค่าบริการรายเดือน
ค่าใช้จ่ายในการบริการจดหน่วยไฟฟ้า ค่าจัดทำและค่าจัดส่งบิลไฟฟ้า
ค่า Ft
ค่า FT คือต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ, อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงราคาเชื้อเพลิง ฯลฯ และเนื่องจากปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ทำให้เรตของ FT ในแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีเรตที่ต่างกันนั่นเอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
เช่นเดียวกับสินค้าหรือบริการประเภทอื่น ๆ ที่เมื่อได้ราคารวมของค่าไฟแล้ว ก็ต้องมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มอีก 7%
สูตรคำนวณค่าไฟด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ
วิธีการคำนวณหน่วยการใช้งานไฟฟ้า จะสามารถหาได้โดยการที่ใช้สูตร
(กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า / 1,000) x จำนวนที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต)
สูตรคำนวณหน่วยการใช้งานไฟฟ้า
สูตรการคำนวณค่าไฟฟ้า จะมีเรตการใช้ไฟฟ้าที่จะคำนวณโดยเรตนี้จะคำนวณหลังจากที่รู้หน่วยการใช้ไฟฟ้าแล้ว โดยค่าพลังงานไฟฟ้าจะมีเรตในการคำนวณเป็นขั้น โดยเรตที่จะยกมาให้ดูต่อไปนี้เป็นเรตสำหรับบ้านประเภท 1.2 คือบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และ บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์แต่มีการใช้หน่วยไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย
- หากใช้ไฟฟ้าอยู่ใน 150 หน่วยแรก (1-150 หน่วย) จะมีค่าบริการอยู่ที่หน่วยละ 3.2484 บาท
- 250 หน่วยถัดไป (151-400 หน่วย) ค่าบริการหน่วยละ 4.2218 บาท
- หน่วยที่เกินกว่า 400 หน่วย (400 หน่วยขึ้นไป) ค่าบริการหน่วยละ 4.4217 บาท
ทั้งนี้ เรตการคำนวณไฟฟ้ามีอยู่หลายเรต ขึ้นอยู่กับว่าเข้าข่ายนิยามว่าเป็นบ้านประเภทใด โดยหากเข้าข่ายเป็นประเภท 1.1 ซึ่งคือบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และ มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ก็จะมีเรตการคำนวณค่าไฟฟ้าอีกแบบ
สรุปบทความ
จะเห็นได้ว่าการคำนวณไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ โดยมีหลักการและวิธีคิดที่ค่อนข้างเข้าใจได้ง่าย และสามารถคำนวณเบื้องต้นคร่าว ๆ ด้วยตัวเองก่อนได้ ซึ่งประโยชน์ของการทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ในบิลค่าไฟ จะช่วยให้ท่านสามารถตรวจสอบได้ว่า บิลค่าไฟมีความผิดปกติหรือไม่ หากมีจะได้แจ้งกับทางการไฟฟ้าให้ตรวจสอบได้